
ขอต้อนรับนักศึกษาใหม่ทุกคน สถาบันมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นพลังที่มีชีวิตชีวาเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน ในโอกาสนี้ขอฝากข้อคิดเห็นที่อยากจะแบ่งปันให้นักศึกษารุ่นใหม่ว่า มิติของการเรียนรู้ที่จะช่วยเติมให้เป็นมหาบัณฑิตที่สมบูรณ์มีหลายด้าน โดยขอประยุกต์แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษา Four Pillars of Education ของ UNESCO เพื่อให้นักศึกษาลองนำไปพิจารณา
Four Pillars of Education เป็นเสาหลักของการศึกษาที่สำคัญ
1.Learning to Know เรียนรู้เพื่อจะรู้
นักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎี แนวคิด หลักการที่สำคัญๆ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเข้าใจทฤษฎีของนักวิชาการหรือนักคิดที่มีชื่อเสียงในระดับสากลและระดับประเทศได้ รวมถึงการได้เรียนรู้ว่าในเรื่องเดียวกันอาจจะมีหลายทฤษฎีหลายมุมมอง ซึ่งมีการตีความที่แตกต่างกัน เราควรเข้าใจว่ามุมมองเหล่านั้นควรจะนำมาใช้ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง และอย่างไร การยึดติดกับแนวคิดเดียวแบบแคบๆ อาจจะทำให้เราเกิดความยึดมั่นและถือดี คิดว่าตนเองเป็นผู้ถือความจริงแบบสัมบูรณ์ (Absolute Truth)
Steve Jobs เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งบริษัทแอปเปิ้ลบุกเบิกด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และได้รับอิทธิพลทางความคิดจากมหาตม คานธีได้กล่าวในงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัย Stanford ว่าให้ Stay hungry, Stay foolish. หมายความว่าควรทำตัวให้หิวกระหายความรู้และเป็นผู้โง่เขลาตลอดเวลา เพราะยังมีความรู้ใหม่ๆ ให้เราเรียนรู้อีกมากมาย
2.Learning to Do เรียนรู้เพื่อจะนำไปประยุกต์ใช้
เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือหรือแอปพลิเคชัน (application) ต่าง ๆ ในสาขาวิชา เพื่อไปใช้ประยุกต์ในการทำงานจริงๆ ได้ เช่น เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์โครงการ แอปพลิเคชันที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์องค์การ อันจะช่วยให้เราได้ฝึกปฏิบัติและเกิดความเข้าใจมากขึ้น และยังรวมหมายถึงทักษะที่จำเป็นอื่น ๆ ในการทำงาน เช่น ทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่น ทักษะในการคิดอย่างเป็นระบบ และทักษะในการใช้ไอที ดังที่ขงจื๊อกล่าวว่า “I hear and I forget, I see and I remember, I do and I understand.”
จำได้ว่าเคยสอนนักศึกษากลุ่มหนึ่งจากกัมพูชาซึ่งได้รับทุนจาก TICA มาเรียนในหลักสูตรนานาชาติ พวกเธอบอกว่าสมัยก่อนการเรียนภาษาอังกฤษถือเป็นเรื่องต้องห้ามในประเทศกัมพูชา ถ้าถูกจับได้จะถูกลงโทษ เมื่อมีโอกาสมาเรียนที่เมืองไทย พวกเธอจึงแสดงถึงความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการเรียนภาษาอังกฤษ และยังบอกว่าในช่วง 2 ปีที่เรียนที่นิด้าจะขอเรียนภาษาไทยให้สามารถพูดใช้งานได้เลย ขอให้ช่วยจัดสอนภาษาไทยให้ด้วยและพวกเธอมักไปฝึกคุยภาษาไทยกับเจ้าหน้าที่คณะและสถาบันอยู่เสมอ ตอนนี้กลุ่มนี้จบการศึกษาและเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่กัมพูชา

3.Learning to Live Together เรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น
สองข้อแรกเป็นสิ่งที่นักศึกษาสามารถเรียนรู้จากสถาบันได้ แต่สองข้อหลังเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง เมื่อนักศึกษาเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ พบคนใหม่ ๆ ที่ต้องพูดคุยหรือทำงานด้วย คนเหล่านี้อาจมีวิธีคิด วิธีการทำงาน หรือทัศนะในการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากเรา เราจะเรียนรู้เพื่อจัดการกับความแตกต่างเหล่านี้ได้อย่างไรจึงจะทำให้การทำงานเป็นทีมเป็นไปได้และบรรลุผล นี่เป็นสนามจำลองของสังคม หากเราสามารถเรียนรู้จุดนี้ได้ดีเมื่อเราจบการศึกษาและไปทำงานจะช่วยลดปัญหาลงได้เป็นอย่างมาก
หากเปรียบเทียบคนเป็นเสมือนศิลปะ บางคนอาจจะเป็นเสมือนศิลปะแบบธรรมชาติ เข้าใจง่ายไม่ต้องตีความ บางคนเป็นแบบนามธรรม (abstract) หรือบางคนเป็นแบบเหนือจริง (surrealism) เข้าใจยากหน่อยและต้องใช้เวลา จึงมีผู้กล่าวว่า “ศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ ศิลปะของการอยู่ร่วมกัน”
เราควรเรียนรู้ในการใช้ทักษะของการเข้าสังคม (social skills) ไม่กลัวที่จะทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ และทักษะการสร้างความร่วมมือ (collaboration skills) ทักษะเหล่านี้ไม่มีการสอนในชั้นเรียน ผู้นำจะต้องมีทักษะเหล่านี้ด้วย จึงต้องหาโอกาสในการเรียนรู้จากคนอื่นที่เก่งในเรื่องเหล่านี้ พื้นฐานที่สำคัญคือจะต้องมีความใส่ใจคนอื่น (care) ลดการเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง ใส่ใจคนรอบข้างและใส่ใจสังคมให้มากขึ้น และเราอาจได้พบว่าเครือข่ายเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการทำงานในอนาคตได้
4.Learning to Be การเรียนรู้ในการเป็นมนุษย์
การเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยทำความเข้าใจตัวเองและผู้อื่นเป็นพื้นฐาน มีความเข้าใจเรื่องมนุษยธรรม ดูเป็นคำที่ยิ่งใหญ่ มีผู้ให้ความหมายว่า คือ ธรรมะที่คนพึงมีต่อกัน รู้จักให้ รู้จักเสียสละ และรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น เมื่ออยู่ในความมืดมิดต้องอดทนรอพบแสงสว่าง รู้จักหยุดเพื่อเข้าใจเรื่องจังหวะและเวลาเพื่อเรียนรู้ถึงความควรและไม่ควร รู้จักพอ อย่าให้ความอยากมีอยากได้ครอบงำจนทำให้เราหลงทาง ชีวิตมีความสวยงาม ให้โอกาสตัวเองเมื่อทำผิดพลาด ให้กำลังใจตัวเองในการแก้ไขและพัฒนาใหม่อีกครั้ง ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าเปรียบเสมือนแสงเทียนที่ให้แสงสว่างกับผู้อื่น ออกไปพบปะพูดคุยกับคนรอบข้างและสังคมภายนอก เพื่อให้รู้และเข้าใจถึงความทุกข์ที่คนอื่นมี และนำความรู้และความสามารถของเราไปช่วยสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับองค์การ ชุมชน และสังคมที่เราอยู่
ศ.ดร. ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์
อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
7 มิถุนายน 2565







