Audiobooks 11zon

โลกสวยด้วย Audiobooks และ Read Aloud

โลกสวยด้วย Audiobooks และ Read Aloud

 

 

โลกสวยด้วย Audiobooks และ Read Aloud

ศาสตราจารย์ ดร.เมธี ครองแก้ว
อาจารย์คุณวุฒิ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

 

หมายเหตุ: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

 

 

          ผู้เขียนเป็นคนสายตาสั้นมากมาตั้งแต่เด็ก จำได้ว่าเมื่อต้องตัดแว่นสายตาเป็นครั้งแรก เมื่ออยู่ ม.3 ก็สั้นไป 250 เรียบร้อยแล้วจากนั้นก็สั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตลอดเวลาที่เรียนหนังสือและออกมาทำงาน จนท้ายที่สุดเมื่อตอนเกษียณจากธรรมศาสตร์ สายตาก็สั้นไปถึง 1,650 แต่ก็ยังนับว่ายังดีที่เทคโนโลยีของการทำเลนส์ได้พัฒนาขึ้นมากในตอนนั้น จนทำให้แว่นไม่ดูหนาเตอะจนเกินไป ประกอบกับตอนนั้นได้จังหวะต้องทำต้อกระจกทั้งสองข้าง หมอเลยใส่เลนส์เทียมแทนแว่น ทำให้ไม่ต้องใส่แว่นสายตาสั้นอีกต่อไป แต่หารู้ไม่ว่าสรีระของลูกตาของคนที่สายตาสั้นมากๆแทนที่จะกลมเหมือนลูกปิงปองก็จะยาวเหมือนลูกรักบี้ ทำให้เยื่อจอประสาทตาหรือ Retina ถูกดึงยืดออกไปจนบางเฉียบและเกิดการแตกปริทำให้น้ำวุ้นในลูกตาซึมเข้าไปอยู่ใต้จอประสาทตา ทำให้เกิดอาการตามัวและมองเห็นภาพบิดเบี้ยวสภาพเช่นว่านี้นานเข้าตามอายุที่มากขึ้น ก็จะทำให้จอประสาทตาที่อยู่ตรงกลางที่ทำให้มองเห็นภาพชัดที่สุดที่มีชื่อเรียกว่า Macular ยิ่งเสื่อมมากขึ้นอีก เป็นอาการทางกายภาพที่มีชื่อเรียกว่า Age-Related Macular Degeneration หรือ AMD นับว่าโชคไม่ดีนักที่ผู้เขียนเป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้

 

          สำหรับคนที่มีอาชีพต้องอ่านต้องเขียนอยู่ตลอดเวลา จอประสาทตาที่เสื่อมลงเรื่อย ๆ ย่อมสร้างความหงุดหงิดในการทำงานเป็นธรรมดาแต่เมื่อผู้เขียนคิดว่าตัวเองพันวัยทำงานและไม่จำเป็นต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ในตอนนี้แล้ว ก็คลายความเดือดร้อนไปได้บ้าง ที่สำคัญกว่านี้ก็คือ ในขณะที่โลกรอบ ๆ ตัวดูจะมืดมัวลงตามสภาพสายตาที่เปลี่ยนไป ผู้เขียนก็เริ่มได้ค้นพบว่ามีสิ่งซึ่งสามารถนำมาทดแทนการใช้สายตาที่ทำให้เห็นโลกสวยมากขึ้นได้ นั่นคือการได้ค้นพบ Audio books และ ความสามารถของเครื่องคอมพิวเตอร์ในการแปลงตัวหนังสือให้เป็นเสียง (Text to Speech or Read Aloud)

 

          อันที่จริง การอ่านหนังสือหรือเอกสารอื่นใดโดยมีคนอื่นอ่านให้ผ่านอุปกรณ์พิเศษมีมานานแล้วนับตั้งแต่การใช้แผ่นเสียง การใช้เทปคาสเชท การใช้เครื่องอ่าน CD และ DVD จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เราสามารถบันทึกเสียงจำนวนมหาศาลเก็บไว้ในหน่วยความจำทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเล็กนิดเดียว ที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์พกพาอื่นๆ เช่นในโทรศัพท์มือถือ และสามารถส่งต่อผ่านบริการอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วในทุกที่ทุกเวลาหลายคนคงจำได้ว่า สมัยก่อนเวลาเราฟังการอ่านหนังสือจากเทปคาสเซทอยู่ในรถเวลารถติด เทปม้วนหนึ่งจะฟังได้ประมาณหนึ่งชั่วโมง เพราะฉะนั้น หนังสือที่มีความยาวต้องอ่านหลายสิบชั่วโมงก็ต้องใช้เทปเป็นลังๆ นับเป็นความไม่สะดวกพอสมควรเดี๋ยวนี้เราสามารถบันทึกเสียงการอ่านหนังสือในโทรศัพท์มือถือของเราได้เป็นพันๆ ชั่วโมง นี่คือโลกที่สวยงามขึ้นของคนที่มีปัญหาการใช้สายตาแต่ยังสามารถใช้การฟังได้อยู่ และสำหรับบางคนแล้ว การได้ฟังเสียงของคนอ่านที่เป็นคนเขียนหนังสือนั้นเอง จะได้อรรถรสสูงกว่าการอ่านจากตัวหนังสือเฉยๆด้วยซ้ำ แต่ถึงผู้เขียนหนังสือเล่มนั้นจะไม่ได้อ่านเอง คนที่สำนักพิมพ์เลือกมาอ่านแทน โดยปกติก็จะเป็นนักอ่านมืออาชีพที่ฝึกฝนมาในทางนี้โดยตรง (ที่เรียกว่า voice acting) ทำให้ฟังได้นานโดยไม่น่าเบื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ต้องการฟังสำเนียงการอ่านภาษาอังกฤษแบบต้นฉบับจริงๆจะได้ประโยชน์จากการฟัง Audiobooks ที่ผู้อ่านเจ้าของภาษามาก

 

          เมื่อตอนที่ผู้เขียนถูก lock down จาก covid- 19 รอบแรกที่ออสเตรเลีย ขณะที่ทำวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา ในปลายเดือน มี.ค.2563 ก็คือจังหวะที่เริ่มหาวิธีที่จะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์เพิ่มจากการอ่านซึ่งทำได้ลำบากขึ้น ตอนแรกก็ได้อาศัยการ download หนังสือ Audiobooks จาก YouTube ซึ่งค่อนข้างสะดวกแต่มีหนังสือที่ตัวเองสนใจไม่มากนัก

 

ประเภทของหนังสือที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือหนังสืออัตชีวประวัติ (auto-biographies) หรือ บันทึกความทรงจำ (memoirs) ของบุคคลที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักระดับโลก

 

          แต่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องบางเรื่องที่น่าสนใจเช่นเรื่องของ Schapelle Corby นักโทษหญิงชาวออสเตรเลียที่ถูกจับและถูกติดคุกอยู่ที่อินโดนีเซีย หลายปีด้วยข้อหาลักลอบนำกัญชาเข้าประเทศ หรือ Jin Xing นายทหารยศพันตรี นักเต้นรำสมัยใหม่(modern dance) แห่งกองทัพปลดแอกประชาชนของจีนตั้งแต่สมัยเมาเชตุง ซึ่งต่อมาแปลงเพศจากชายเป็นหญิง หรือ Johnny O’Keefe นักร้อง rock and Roll คนแรกของออสเตรเลียตั้งแต่ยุค 1950s หรือนาย Cristo Brand ผู้คุมเรือนจำชาวแอฟริกาใต้ที่มีโอกาสได้คุมตัวนาย Nelson Mandela เกือบตลอดเวลา 27 ปีที่อยู่ในคุก และคอยให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้จนนาย Mandela ได้ถูกปล่อยตัวออกมาและได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของประเทศในที่สุด เป็นต้น แน่นอนว่าเรื่องที่น่าสนใจที่สุดคือบันทึกความทรงจำของนักการเมืองที่มีชื่อที่เขียนจากประสบการณ์จริง ยกตัวอย่างเช่น หนังสือเรื่อง A promised Land ของ นาย Barack Obama ที่เขียนถึงช่วงเวลาที่เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยแรกระหว่าง ค.ศ.2008 ถึง 2012 ซึ่งรวมถึงตอนตัดสินใจให้หน่วย commando ของสหรัฐฯ บุกเข้าไปสังหารนายOsama Bin Laden ในประเทศปากีสถานด้วย

          หนังสือเรื่อง What Happened ซึ่งนาง Hilaryclinton เขียนเล่าถึงเหตุการณ์การสมัครเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแข่งกับนาย Donald Trump เมื่อปี ค.ศ. 2016 แล้วแพ้อย่างพลิกความคาดหมายหรือ หนังสือที่เกี่ยวกับนักการเมืองออสเตรเลียหลายต่อหลายคน อาทิ John Howard,Julia Gillard, หรือ Malcolm Turnbull เป็นต้น การได้ฟังเสียงจริงของบุคคลเหล่านี้เล่าเรื่องของตัวเองเป็นสิบๆชั่วโมง ไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในรูป Audiobooks ในขณะนี้

 

          ที่เล่ามาในตอนท้ายนี้อาจจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่าหนังสือต่างๆที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ซึ่งเป็นหนังสือใหม่จะหาอ่านได้ง่ายๆจาก YouTube หรือเว็บไซต์ทั่วๆไป ข้อเท็จจริงคือไม่ใช่ หนังสือเหล่านี้ หลายเล่มผู้เขียนต้องซื้อจาก Audible ซึ่งเป็นเว็บขายหนังสือ Audiobooks on line ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นส่วนหนึ่งของ Amazon.com ซึ่งเป็นบริษัทขายของ on line ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน Audible ใช้ระบบให้สมัครเป็นสมาชิกโดยให้เสียค่าสมาชิกเดือนละ 10 เหรียญ US โดยจะได้ credit ซื้อหนังสืออะไรก็ได้ ราคาเท่าใดก็ได้เดือนละ 1 เล่ม ถ้าจะซื้อเพิ่มจากนี้ก็จะมีราคาแตกต่างกันออกไปตามความยาวของหนังสือ นอกจาก Audible แล้ว ร้านขายหนังสือ on line ทำนองนี้ยังมีอีกหลายร้าน อาทิ Booktopia, Koborakuten, หรือ Scribd เป็นต้น

 

หลังจากที่ผู้เขียนได้ซื้อหนังสือจาก Audible ไปแล้ว 3-4 เล่ม ก็ได้ค้นพบว่าห้องสมุดของรัฐต่างๆ ในออสเตรเลีย มีหนังสือAudiobooks เหล่านี้ให้ยืมด้วยโดยที่เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยวิธีการคือเราต้องสมัครเป็นสมาชิกห้องสมุดก่อน แล้วเราจะ download application สำหรับยืมและอ่านหนังสือ ซึ่งมีหลายชื่อเรียกด้วยกัน

 

          อาทิ Borrowbox, Libby, หรือ Overdrive วิธีการยืมก็เหมือนกับยืมหนังสือทั่วๆไป คือยืมได้ทีละคน ถ้ามีคนยืมอยู่ก่อนแล้วเราก็ต้องกดจองไว้ เมื่อถึงกำหนดคนส่งคืนแล้ว ทางห้องสมุดก็จะปล่อยสัญญาณให้เรา download หนังสือนั้นในรูปของไฟล์เสียงเข้าในโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราตามกำหนดเวลายืมเล่มละ 14 วัน จากนั้น เราจะอ่าน (ฟัง) หนังสือของเราอย่างไรก็ได้ เมื่อใดก็ได้ ตราบใดที่เราสามารเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตได้อันที่จริงการปล่อยสัญญาณหนังสือให้คนยืมได้มากกว่าหนึ่งคนสามารถทำได้โดยเกือบจะไม่ทำให้มีต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal cost) สูงขึ้นเลย แต่ที่ต้องให้อ่านได้ทีละคนก็คงเพราะปัญหาทางด้านสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์นั่นเอง แต่สำหรับคนอ่านที่รอได้ วิธีการนี้ก็จะเป็นวิธีที่ประหยัดที่สุด

 

          ที่ดีไปกว่านี้อีกก็คือมีเว็บไซค์บางแห่งในอินเตอร์เน็ตที่มีหนังสือ Audiobooks ให้ download ได้ฟรีๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือเก่าๆที่หมดลิขสิทธิ์แล้วที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจที่สุดคือเว็บไซต์ชื่อ Librivo x.org ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสาธารณะโดยคนอ่านหนังสือต่างๆเป็นพวกอาสาสมัคร ผู้เขียนมีความสุขมากที่ได้ download หนังสือตำราประเภทคลาสสิกสมัยที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยได้กลับมาอ่าน (ฟัง) อีกครั้งหนึ่งโดยที่ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานมากเหมือนสมัยที่เรียนหนังสือ ยกตัวอย่างเช่น การได้อ่าน (ฟัง)The Theory of Moral Sentiments และ The Wealth of Nations ของ Adam Smith ทั้งสองเล่ม จำนวนพันกว่าหน้า ตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งๆที่เมื่อตอน เรียนอยู่ไม่เคยอ่านเกิน 10 หน้าด้วยซ้ำ หนังสืออื่นก็

 

          เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น The Second Treatise of Government ของ John Locke หรือ Democracy in America ของ Alexis De Tocqueville เป็นต้น รวมทั้งหนังสือที่ต้องอ่านสมัยอยู่เตรียมฯที่ต้องคอยเปิดพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยเกือบทุกบรรทัด เช่น A Tale of Two Cities ของ Charles Dickens ด้วยเช่นเดียวกัน

 

          ที่น่าสนใจไม่แพ้ Librivox.org อีกสองแห่งคือ Open Culture และ Internet Archiveนหลังนี้เป็นหน่วยงานเอกชนที่ไม่หวังกำไรเช่นเดียวกัน เป็นแหล่งรวม “ข้อมูลของเก่า” ทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ เสียงหนังสือ ภาพเคลื่อนไหว เพลง ดนตรี หรือแม้แต่ชอฟต์แวร์ต่างๆ มากมายให้ใช้ประโยชน์ได้ฟรึโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้เขียนเห็นแล้วก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสามารถให้บริการแบบนี้โดยไม่ละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างไร ในเมื่อเว็บไชต์นี้มีบริการให้ผู้ที่มีหนังสือที่เป็นลิขสิทธิ์ของตนเองสามารถ upload หนังสือดังกล่าวในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปเก็บไว้ในคลังข้อมูลของหน่วยงานนี้ได้ ผู้เขียนจึงได้ทำการ Upload หนังสือ 2 เล่มล่าสุด คือ Thailand in East Asia and pacific Context ที่สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้จัดพิมพ์ และ Reflections on the Thai Economy and society ซึ่งคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้จัดพิมพ์ ไปที่ Internet Archive แห่งนี้ ซึ่งตอนนี้ใครต่อใครก็สามารถเปิดเข้าไปหาอ่านและ download ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ที่ดีไปกว่านั้น (และเข้ากับบรรยากาศของบทความนี้) เว็บนี้มีบริการอ่านให้ฟังอย่างสบายๆอีกด้วย

 

          สำหรับ Read Aloud นั้นคือส่วนต่อขยาย (extensions) ของ Web Browsers ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Edge, Google Chrome หรือ Mozilla Firefox ที่สามารถให้เราใช้อ่านออกเสียงข้อความต่างๆที่ปรากฏในหน้าของ Web Browsers เหล่านี้ โดยการแปลงตัวหนังสือเป็นเสียง (text to speech) ได้เกือบทุกภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วยโดยที่เราไม่ต้องอ่านเองและถ้าใครอยากจะบันทึกการแปลงตัวหนังสือให้เป็นเสียงเพื่อก็บไว้ฟังในก็สามารถทำได้โดยใช้ free software อย่างเช่น Balabolka หรือ PDF to MP3 เป็นต้น

 

โดยสรุปแล้ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียุคใหม่ สามารถชดเชยความบกพร่องทางกายภาพของมนุษย์เราได้เป็นอย่างมาก ในขณะที่โลกเราร้อนขึ้น ฝุ่นควันมากขึ้น หรือโรคระบาดมากขึ้น อย่างน้อยเราก็สามารถทำให้โลกเราสวยขึ้นได้ด้วย Audiobooks และ Read Aloud

 

ที่มา : https://issuu.com/ner-econ/docs/cdes_newsletter_vol.33