
โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา
ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
ผู้ผลิตและจำหน่ายใบชาที่เติบโตในป่าธรรมชาติ มีเป้าหมายหลักเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในผืนป่าภาคเหนือของไทย ยึดหลักการทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรท้องถิ่นที่เชื่อในวิถียั่งยืน แก้ปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวด้วยการรับซื้อใบชาที่เก็บเกี่ยวจากป่าธรรมชาติในราคาที่เป็นธรรม
จุดเริ่มต้น
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงจากร้อยละ 61 เป็นร้อยละ 34 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ และสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปอย่างน่าตกใจ ท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายนี้ Monsoon Tea ได้ค้นพบวิธีการสร้างสมดุลระหว่างผลกำไรและการอนุรักษ์ ด้วยการเก็บเกี่ยวใบชาป่า หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ใบเมี่ยง”โดยไม่ต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกที่ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง Kenneth Rimdahl ชายชาวสวีเดนที่เปลี่ยนพืชที่ถูกละเลยให้เป็น ทั้งพืชเศรษฐกิจและรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน เล่าว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพคือจุดสนใจของผม ชาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ในเรื่องนี้” เขาสร้างความสำเร็จด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการเป็นพันธมิตรกับโรงแรมระดับ 5 ดาวและแบรนด์แฟชั่นสุดหรู
ปกป้องและขยายผลความหลากหลายทางชีวภาพ
Rimdahl และพันธมิตร คิดค้นหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้ในประเทศไทยโดยใช้ชาป่า เช่น การวางแผนที่จะปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดตั้งสถาบันที่เป็นมิตรต่อป่าไม้ ที่สามารถจัดเกรดผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่ 1 ถึง 5 ตามระดับของความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เรียกว่า Rimdahl scale” ชาที่เก็บเกี่ยวจากพื้นที่เพาะปลูกทั่วไปอาจได้คะแนน ‘1’ ในขณะที่ชาจากป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณและสัตว์ป่านานาชนิดอาจได้รับคะแนน ‘5’ สถาบันมีแผนสร้างห้องปฏิบัติการบนดอยแม่สลอง “ที่ห้องทดลองนี้ เราสามารถวัดปัจจัยต่างๆ ได้ เช่น จำนวนแมลงหรือปริมาณออกซิเจนในพื้นที่และคุณภาพดิน” Rimdahl อธิบายด้วยความกระตือรือร้น สถาบันนี้ยังสามารถหารายได้จากการจัดเกรดผลิตภัณฑ์ของแบรนด์อื่น ๆ พร้อมทั้งการอนุญาตให้ใช้โลโก้ชาที่เป็นมิตรกับป่าของสถาบันอีกด้วย
รักษ์โลกอย่างพอเพียง
จากมุมมองทางธุรกิจ คุณธรรมอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องนามธรรม ถึงกระนั้น Monsoon Tea ก็เป็นตัวอย่างของแบรนด์ที่ทำให้คุณธรรมมีชีวิต วิธีการทำงานของ Rimdahl ขับเคลื่อนด้วยความใส่ใจที่อยากอนุรักษ์และฟื้นฟูโลกใบนี้อย่างชัดเจน ซึ่งเขาอธิบายว่า “ถ้าคุณทำงานเพื่อเงินเท่านั้น คุณต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อสนุกกับตัวเอง หากคุณทำงานด้วยเหตุผลอื่นด้วย เช่น เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ธรรมชาติ และคนอื่นๆ คุณจะรู้สึกร่ำรวยขึ้นมาก คุณจะต้องใช้เงินน้อยลงเพื่อสนุกกับตัวเอง”
#SDG12 #SDG13 #SDG15
#SuDSESC #Nida #NIDAThailand
ท่านใดสนใจรายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ “Thailand’s BCG Transformation: 40 Case Studies on the Bio-Circular-Green Strategy and the Sufficiency Economy Philosophy In Action” หน้า 98-101 ข้างล่างได้เลยค่ะ



