
โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
ธุรกิจอัพไซเคิลขยะทะเล ที่ใช้งานวิจัยเป็นกลไกพัฒนาสินค้าสู่เชิงพาณิชย์ – ทะเลจร แบรนด์รองเท้าจากขยะ – ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยสร้างรายได้เสริมให้ชุมชน ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น และความภาคภูมิใจในกลุ่มแม่บ้านผู้ผลิตในสามจังหวัดชายแดนใต้
จุดเริ่มต้น
ท่ามกลางภูมิทัศน์อันงดงามทางธรรมชาติ จังหวัดปัตตานีเผชิญกับปัญหาขยะทะเลบนชายหาดที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในปี 2559 ที่ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ร่วมกับอาสาสมัครรุ่นใหม่ที่ห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ก่อตั้ง Trash Hero ปัตตานี กลุ่มจิตอาสาเก็บขยะจากชายหาดนี้ได้ขยายสู่ธุรกิจเพื่อสังคมชื่อ ทะเลจร (Tlejourn) ที่มุ่งช่วยให้คนในท้องถิ่นนำขยะรองเท้าในทะเลมาชุบชีวิตให้เป็นรองเท้าแตะรีไซเคิล สอดคล้องกับหนึ่งในกลยุทธ์ BCG – Circular economy เศรษฐกิจหมุนเวียน – ที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มในบริบทของแต่ละท้องถิ่น แปลงขยะเป็นแหล่งรายได้ พร้อม ๆ กับเพิ่มคุณค่าในภาคการท่องเที่ยว และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในพื้นที่
วิถีพอเพียง
ดร.ณัฐพงศ์ มองว่าการเสริมสร้างอาชีพและการพึ่งพาตนเองเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ทางสังคมในเชิงบวก “ปัญหาเรื้อรังบางอย่างในชุมชนของเราอาจไม่มีหนทางแก้ไขที่ชัดเจน เรามักจะอยากได้หนทางแก้ที่ง่าย ๆ และรวดเร็ว แต่มักจะไม่คิดแก้ที่ต้นเหตุ จริง ๆ แล้วเราน่าจะคิดออกมาจากข้างในว่าเราจะสามารถแก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างเหล่านี้ได้อย่างไรด้วยวิธีการที่สร้างความยั่งยืน โดยยังคงตระหนักถึงผลกระทบต่อธรรมชาติและชุมชนโดยรวมอยู่เสมอ”
หกปีที่ผ่านมาของการทำงานอย่างหนัก ทะเลจร ได้สร้างโมเดลธุรกิจสังคมที่เกิดในท้องถิ่นและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าและคุณค่า ตอบสนองกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียน และเพิ่มขีดความสามารถสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้องให้เกิดการพัฒนาความเชี่ยวชาญยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อเสริมสร้างการพึ่งพาตนเอง
การสื่อสารและสร้างพันธมิตร
“เราทำความสะอาด เราให้ความรู้ เราสร้างการเปลี่ยนแปลง’ คือภารกิจของ “ทะเลจร” นอกจากการอัพไซเคิลขยะเป็นผลิตภัณฑ์ ผ่านความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับชุมชนท้องถิ่น การพัฒนากาวโพลิเมอร์ชนิดพิเศษสำหรับปะติดยางฉีกร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สงขลานครินทร์ และการสร้างความร่วมมือกับผู้ผลิตวินด์เซิร์ฟและแบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยแล้ว ทะเลจร ยังกระตือรือร้นในการขยายเครือข่ายให้กว้างขึ้น เพื่อถ่ายทอดความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะทะเล ผ่านการพูดคุย การจัดทัวร์และกิจกรรมร่วมทำความสะอาดชายหาด
“ฉันภูมิใจในรองเท้าทะเลจรมาก” สมาชิกในทีมผู้ผลิตกล่าว “เป็นแหล่งรายได้ในชุมชน ชาวบ้านไม่ต้องเดินทางอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อออกไปหางานทำข้างนอก เวลาการทำงานของเราก็ยืดหยุ่นได้ ครอบครัวต่าง ๆ สามารถผลิตรองเท้าควบคู่ไปกับการทำสวนและทำไร่ ทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น”
ท่านใดสนใจรายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ “Thailand’s BCG Transformation: 40 Case Studies on the Bio-Circular-Green Strategy and the Sufficiency Economy Philosophy In Action” หน้า 182-187 ข้างล่างได้เลยค่ะ
#SDG8 #SDG10 #SDG17
#SuDSESC #Nida #NIDAThailand





