โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา
ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
สตาร์ทอัพที่มุ่งหมุนเวียนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแฟชั่นกลับสู่ท้องตลาดเพื่อลดขยะ สร้างตลาดใหม่ด้วยการ upcycling ผ้าส่วนเกิน ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงวัตถุดิบที่มีคุณภาพได้ในราคาที่เหมาะสม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและสร้างประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในห่วงโซ่คุณค่าตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จนได้รับรางวัล SEED Low Carbon Awards 2021 จาก UNDP และ IUCN
BCG เป็นกลยุทธ์ที่มุ่งเพิ่มคุณภาพชีวิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สัปดาห์ที่แล้วเราเริ่มการเดินทาง ‘BCG พอเพียง’ ด้วยธุรกิจการเกษตร & อาหาร สัปดาห์นี้เป็นตัวอย่างการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในวงการแฟชั่น จินตนาการ ‘Fast fashion’ ซึ่งผู้ผลิตต่างเร่งมือและเร่งการผลิตโดยอาจใช้วัสดุสังเคราะห์ที่ไม่ยั่งยืนเพื่อให้ทันความต้องการของตลาด ทำให้มองเห็นภาพขยะกองสุมจำนวนมหาศาลจากกระบวนการผลิตเสื้อผ้าหรือเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว – ยังไม่ต้องนึกถึงว่าในการผลิตเสื้อยืดหนึ่งตัวใช้น้ำ 7,000 ลิตรในการปลูกฝ้ายและปล่อย CO2 2.6 กก……
จุดเริ่มต้นจาก ‘สินค้าค้างส่ง (Deadstock)’
การสะสมของสต็อกส่วนเกินซึ่งมักจะเป็นผ้าที่ยังใช้งานได้ แต่ถูกจัดเก็บในคลังสินค้าด้วยเหตุผลต่างๆ ตั้งแต่การมีตำหนิเล็กน้อยไปจนถึงการผลิตมากเกินไป แม้ว่าผู้ผลิตจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเก็บ ‘สินค้าค้างส่ง’ นี้ไว้ใช้ในอนาคต แต่ผ้าจำนวนมากมักจะถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบเมื่อพื้นที่จัดเก็บของโรงงานเต็ม อมรพล (พล) หุวะนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง moreloop กล่าวว่า “ประเทศไทยผลิตผ้า Deadstock กว่า 700 ล้านชิ้นต่อปีหรือประมาณ 10 ชิ้นต่อคน”
พลมีความฝันที่จะทำงานในธุรกิจที่ยั่งยืน หลังจากที่ทำงานด้านการเงินกว่า 10 ปี ทำให้เขารับรู้เกี่ยวกับปัญหาสต็อกส่วนเกินนี้ เมื่อเขาตัดสินใจเข้าสู่การทำธุรกิจเพื่อสังคม การจัดการกับขยะจึงเป็นเป้าหมายแรก “ตอนที่ผมเริ่มต้นทำเรื่องนี้ ผมอยากที่จะจัดการกับขยะอุตสาหกรรมทุกประเภท แต่ผมก็รู้ว่าเราไม่สามารถทำได้ถ้าไม่มีความรู้เฉพาะเกี่ยวกับแต่ละภาคส่วนย่อย” แนวคิด moreloop – มอร์ลูป เกิดขึ้นเมื่อธมลวรรณ (แอ๋ม) วิโรจน์ไชยยันต์ เจ้าของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้ารุ่นใหม่ในเขตชานเมืองของกรุงเทพฯ ร่วมงานสัมมนาจัดโดยพล ในปี 2560 ทั้งสองร่วมกันก่อตั้ง moreloop โมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพที่ยั่งยืน
การขยายผล BCG ของธุรกิจ moreloop
การแก้ไขปัญหาของเหลือทิ้งของ moreloop นั้นเรียบง่าย โดยบริษัทจะจับคู่สินค้าคงคลังจากโรงงานกับลูกค้าที่กำลังมองหาวัสดุที่ยั่งยืนมากขึ้นสำหรับผลิตเสื้อผ้าของพวกเขา ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท แพลตฟอร์มของ มอร์ลูปจะแสดงรายการผ้ามากกว่า 500 ชนิดในหลากหลายสีและลวดลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบกิโลกรัมหรือหลา ความสำเร็จของ moreloop เป็นเครื่องเตือนใจอย่างชัดเจนว่ามีวัสดุส่วนเกินมากน้อยเพียงใดในอุตสาหกรรม
เมื่อมองโมเดลธุรกิจ moreloop ผ่านเลนส์ของ BCG เราจะเห็นการรีไซเคิลสินค้าค้างสต๊อก ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการลดการปล่อยมลพิษและพลังงานที่ใช้ในกระบวนการสกัด-ย้อม-ถักทอ-ขนส่ง ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ผ้าใหม่เอี่ยมแทน moreloop เป็นการทำให้ผืนผ้ามีชีวิต มาก ‘more’ รอบ ‘loop’ ยิ่งขึ้น รายได้ 5.5 ล้านบาทในปี 2563 พิสูจน์ว่า moreloop เป็นธุรกิจที่สามารถขยายขนาดได้สำเร็จ ซึ่งการเติบโตนี้ส่งผลด้านความยั่งยืนเช่นกัน ด้วยการจัดการ deadstock ประมาณหนึ่งล้านหลา แพลตฟอร์มนี้คาดว่าจะช่วยประหยัดผ้าได้ 3.3 ตัน และชดเชยการปล่อย CO2 ได้ประมาณ 500,000 กิโลกรัม ตัวอย่างของ win-win สำหรับทุกภาคส่วน
ท่านใดสนใจรายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ “Thailand’s BCG Transformation: 40 Case Studies on the Bio-Circular-Green Strategy and the Sufficiency Economy Philosophy In Action” หน้า 53-57 ข้างล่างได้เลยค่ะ
#SDG9 #SDG12 #SDG13 #SuDSESC #Nida #NIDAThailand