โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกระดาษสา บนพื้นฐานของความพอเพียงที่ทำมานานกว่า 40 ปี โดยสร้างงานสร้างรายได้ ผสมผสานการหมุนเวียนทรัพยากรท้องถิ่นเข้ากับรากเหง้าวัฒนธรรมและทักษะโบราณ มีการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างคนในชุมชน จนเกิดเป็นเครือข่ายธุรกิจชุมชนที่เข้มแข็ง
จุดเริ่มต้น
“ฉันชอบทำกระดาษสาตั้งแต่เด็ก มันเริ่มต้นจากความรัก” คุณแม่ฟองคำ หล้าปินตา ปูชนียบุคคลแห่งบ้านอนุรักษ์กระดาษสา ในวัย 69 ปี พูดถึงการศิลปะการทำกระดาษสาแบบดั้งเดิมจากต้นปอสาที่ปลูกในท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นทำขึ้นมาด้วยความภาคภูมิใจและใส่ใจ และกำลังส่งต่อการสืบสานให้สายสุนีย์ ลูกสาวคนโต
กระดาษสาทำจากเปลือกของต้นปอสาที่ดูเรียบง่ายและมีใบเป็นรูปหยดน้ำ ทุกๆ ปีในช่วงฤดูฝน เปลือกของต้นปอสาจะเต็มไปด้วยน้ำ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวหล้าปินตา จ้างคนในท้องถิ่นขึ้นไปบนภูเขาเพื่อตัดกิ่งก้านของต้นไม้ล้มลุกเหล่านี้ เปลือกไม้ของต้นปอสาที่เต็มไปด้วยน้ำจะถูกปอกออกได้ง่าย ในสมัยก่อนพวกเขาจะนำเปลือกที่ลอกออกมาไปโขลก โดยใช้ค้อนไม้ทุบเปลือกไม้ด้วยมือ แต่ทุกวันนี้ได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องต้มจนได้เยื่อกระดาษเปียก แล้วเอาลงไปแช่ในอ่างน้ำขนาดมหึมา หลังจากกวนสักพัก เยื่อกระดาษจะถูกกรองออกด้วยตาข่ายสีฟ้าสี่เหลี่ยมละเอียด จากนั้นปล่อยให้แห้งใต้แสงแดด แล้วนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายอย่างน่าทึ่ง
กษาสมดุลระหว่างป่า ชุมชน และผู้คน
คุณแม่ฟองคำกล่าวถึงดอกไม้แห้งจำนวนมากที่ใช้ตกแต่งผลิตภัณฑ์ เช่น สมุดโน้ต กล่องใส่ทิชชู กรอบรูป ที่คั่นหนังสือ ซึ่งทำโดยชาวเขาจากมูลนิธิโครงการหลวง ‘เราได้แสดงความรู้สึกทางศิลปะ พร้อมๆ กับสนับสนุนชาวเขา’ นอกจากนี้แล้ว บ้านกระดาษสายังจัดเวิร์กช็อปในราคาย่อมเยา ให้กับหน่วยงานราชการ นักศึกษา และผู้ที่สนใจเรียนทำกระดาษสาเป็นประจำ และรับซื้อผลิตภัณฑ์มาวางขายต่อ ซึ่งเป็นการเสริมรายได้ให้คนในชุมชน แม้แต่พระสงฆ์ก็ยังได้ประโยชน์จากสมุดพับซิกแซกกระดาษสาที่คุณแม่ฟองคำบริจาค สำหรับใช้บันทึกพระธรรมเทศนาหรือความรู้การแพทย์แผนไทย
ต้นไม้ถูกโค่นเพื่อทำผลิตภัณฑ์เหล่านี้หรือเปล่า? สายสุนีย์อธิบายว่าต้นปอสาเป็นไม้ล้มลุก เมื่อแตกกิ่งก้านออกก็จะแตกหน่อมากขึ้น การเก็บเกี่ยวมีเพียงปีละครั้ง ป่าจึงได้รับการอนุรักษ์ไว้ นอกจากนี้ กระบวนการทำกระดาษสายังสอดคล้องกับแนวคิด ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ กระดาษบางส่วนถูกนำไปใช้ทำสมุด ในขณะที่ส่วนเกินที่เหลือก็สามารถนำกลับไปทำผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ตลอดไป
#SDG8#SDG12#SDG15
#SuDSESC#Nida#NIDAThailand
ท่านใดสนใจรายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ “Thailand’s BCG Transformation: 40 Case Studies on the Bio-Circular-Green Strategy and the Sufficiency Economy Philosophy In Action” หน้า 106-111 ข้างล่างได้เลยค่ะ





