
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรษิดา บุญญาณเมธาพร
คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
จากแนวคิด “เพื่อการพึ่งพาตนเอง” สู่ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ด้วยแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งพาตนเอง บ้านสุมาลี หนองจอก เกิดจาก “แนวคิดการส่งต่อความรู้ที่มีสู่สังคม” ซึ่งถือเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้เรื่องการใช้ชีวิตด้วยการพึ่งตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและประยุกต์ใช้การเกษตรผสมผสานเพื่อความยั่งยืนแบบเรียบง่ายด้วยทรัพยากรที่มีอยู่รอบ ๆ ชุมชน โดยมี ครูสุรชัย สะนิละ เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นวิทยากรให้ความรู้ จากการเรียนรู้และลงมือทำสู่การยกระดับพื้นที่เป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร-สุขภาพ (Agro-Wellness Tourism)” โดย คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรษิดา บุญญาณเมธาพร เป็นที่ปรึกษาโครงการ และคณะทำงาน ร่วมบูรณาการพื้นที่บ้านสุมาลี ให้เป็นศูนย์กลางการให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะการใช้ชีวิตการผสมผสานองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม และองค์ความรู้ด้านสุขภาพ ตลอดจนภูมิปัญญาของชุมชน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) เพื่อนำทรัพยากรมาผลิตให้คุ้มค่าที่สุดควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าสูง ซึ่งเป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยทรัพยากรบางอย่างสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยจัดการสภาพสังคมให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด กล่าวคือ มุ่งเน้นการพัฒนาจากทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่เดิม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็สอดคล้องกับเป้าหมายของบ้านสุมาลี

ความโดดเด่นและดึงดูดใจของบ้านสุมาลีมีอยู่มากมาย ภายใต้แนวคิด “การพึ่งพาตนเอง” ใครมาเยือนที่นี่มักมีอะไรติดตัวกลับบ้านไปเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเกร็ดความรู้ดีๆ หรือสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ โดยเฉพาะนวัตกรรมอุปกรณ์เพื่อสุขภาพ มีการต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (creative tourism activities) บนฐานการเรียนรู้ของชุมชนที่มีอยู่เดิมโดยเน้นการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว (co-creation) ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรในพื้นที่ อาทิ การนำขยะมาทำเป็นกระถางต้นไม้ การนำกิ่งไม้และกะลามาพัฒนาอุปกรณ์นวด การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำ EM เป็นต้น การพัฒนามุ่งเน้นให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์จริงผ่านการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างมีคุณภาพโดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ เกิดการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายทางการท่องเที่ยวตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) การสร้างงานและอาชีพเพื่อก่อให้เกิดรายได้และความยั่งยืนในชุมชน การพัฒนาบ้านสุมาลี ให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร-สุขภาพที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานนั้น จำเป็นต้องดึงเอาภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดเป็นกิจกรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว การต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ให้ชุมชนซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น รวมทั้งการบริหารจัดการต้นทุนและการเงินอย่างเป็นระบบจากการทำบัญชีครัวเรือน และการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแหล่งท่องเที่ยวผ่านการประชาสัมพันธ์ในช่องทางที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลักและรองทั้งกลุ่มศึกษาดูงาน กลุ่มครอบครัว กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่การพัฒนาจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกร่วมกับชุมชนพบว่า หากต้องการพัฒนาบ้านสุมาลีให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงสุขภาพ (Agro-wellness Tourism) นั้น การบริหารจัดการพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่จำเป็นอันดับต้นๆ จะเห็นได้ว่าบริเวณบ้านสุมาลีมีพื้นที่รกร้างหลายจุด ขาดการจัดโซนนิ่งเพื่อการท่องเที่ยวและการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ขาดความหลากหลายของกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ขาดการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมทางด้านการตลาด ขาดการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการท่องเที่ยว ฯลฯ ดังนั้นชุมชนจึงยังมีความต้องการในด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์ของแหล่งท่องเที่ยว การจัดหมวดหมู่ทรัพยากรทางการท่องเที่ยวบริเวณรอบบ้านสุมาลีเพื่อให้เกิดความสวยงาม สะดวกและปลอดภัยของพื้นที่ การสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ผสานกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงสุขภาพเข้าด้วยกัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่มากขึ้นซึ่งเน้นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูง การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับคนในชุมชน เช่น เรื่องการตลาดออนไลน์ การทำบัญชีอย่างง่าย การวางแผนการตลาดและการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ (New Business Model) เพื่อเสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีรูปแบบการท่องเที่ยวใกล้เคียงกัน การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับคนในชุมชน เช่น เรื่องการตลาดออนไลน์ การทำบัญชีอย่างง่าย การวางแผนการตลาดและการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ (New Business Model) เพื่อเสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีรูปแบบการท่องเที่ยวใกล้เคียงกัน การเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ โดยเน้นการตลาดออนไลน์ ด้วยการจัดทำ Facebook Page และดำเนินการเป็นพี่เลี้ยงจนสิ้นสุดโครงการและต่อยอดให้กับคนในพื้นที่ การจัดทำหนังสืออิเล็คทรอนิค (E-book) เพื่อรวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจของพื้นที่ กิจกรรมการท่องเที่ยว และข้อมูลผลิตภัณฑ์ โดยเน้นกระบวนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกกระบวนการ การเชื่อมโยงเครือข่ายทางการท่องเที่ยวเพื่อสร้างศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความเข้มแข็ง และที่สำคัญคือการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างทั่วถึง
ภาคีเครือข่าย “ร่วมผลักดัน ร่วมขับเคลื่อน” ส่งเสริมความสำเร็จของพื้นที่


จุดเริ่มต้นที่คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับบ้านสุมาลี ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2563 ด้วยการสนับสนุนโดยธนาคารออมสิน โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้และอาชีพใหม่ให้กับชุมชน ส่งเสริมความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษา คนรุ่นใหม่ ให้ร่วมคิด ร่วมทำ ผ่านการบูรณาการภูมิปัญญาและนำกระบวนการสมัยใหม่ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับชุมชนให้มีศักยภาพ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรในชุมชนได้ จากจุดเริ่มต้นนั่นเอง ทำให้ทางทีมได้บูรณาการความร่วมมือกับศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง บ้านสุมาลี มาโดยตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน ในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงสุขภาพ (Agro-wellness Tourism) สามารถตอบโจทย์การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพได้ผ่านการใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้จากชุมชน เกิดกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนตลอดการพัฒนา จนกระทั่งเห็นผลงานเชิงประจักษ์และได้รับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจถึง 4 รางวัล คือ
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ภายใต้ชื่อทีม Lady Pink สวยหวานแต่แข็งแกร่ง ในกิจกรรมการประกวด Smart Start Idea by GSB Startup ธนาคารออมสิน ประจำปี 2564
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ภายใต้ชื่อทีม Lady Pink สวยหวานแต่แข็งแกร่ง ในกิจกรรมการประกวดรอบ Best of Best ธนาคารออมสิน จากทีม The Best ของทั้ง 65 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ และรางวัลล่าสุด ประจำปี 2564
- รางวัลชนะเลิศสุดยอดเส้นทางท่องเที่ยวสุขภาพสร้างสรรค์ 2023 “DOT Connect to Healthy Route 2023” ภายใต้ชื่อเส้นทางท่องเที่ยวสุขภาพแฮปปี้ กับพี่ๆวัยเก๋า จาก กรมการท่องเที่ยว ซึ่งทีมนิด้าต้องฝ่านฟันกับทีมสร้างสรรค์เส้นทางท่องเที่ยวกว่า 74 ทีม จนได้เข้ารอบ 24 ทีม และ 10 ทีมสุดท้าย เพื่อ Pitching เพื่อเฟ้นหา 5 สุดยอดเส้นทางท่องเที่ยวสุขภาพสร้างสรรค์
- รางวัลชนะเลิศกิจกรรมการประกวดแข่งขัน “วิทยาศาสตร์ในภูมิปัญญาไทย” ประเภท สิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยเสริมคุณภาพชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ โครงการกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สำหรับผู้สูงวัย “แฮปปี้…สูงวัย” ประจำปีงบประมาณ 2566 จัดโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา

ความสำเร็จดังกล่าวเกิดความความร่วมมือของภาคชุมชน ภาครัฐส่วนท้องถิ่น ภาครัฐส่วนกลาง ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ทางทีมต้องขอขอบพระคุณภาคีเครือข่ายทุกๆ ท่านที่ให้การสนับสนุนทางทีมและบ้านสุมาลีอย่างดีเสมอมา นอกจากปัจจัยผลักดันและสนับสนุนจากภายนอกแล้วนั้น ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมความสำเร็จในการพัฒนา ล้วนมาจากปัจจัยภายในของบ้านสุมาลี ไม่ว่าจะเป็น องค์ความรู้ ภูมิปัญญาดั้งเดิม และทุนทางวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลายทั้งทรัพยากรที่สามารถจับต้องได้ (Tangible) เช่น อุปกรณ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์จากแนวทางการลดขยะให้เหลือศูนย์ (Zero waste) บรรยากาศโดยรอบที่มีความเหมาะสมในการผ่อนคลายกายและใจ และทรัพยากรที่ไม่สามารถจับต้องได้ (Intangible) เช่น องค์ความรู้ด้านสุขภาพ วัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม และองค์ความรู้ด้านการเกษตร เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าที่สามารถตอบโจทย์ขีดความสามารถในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ทุนทางสังคม บุคลากรของชุมชน และความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน ภายใต้กรอบแนวคิด Growth mindset ผู้นำชุมชนมีการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ มีการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ นำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของชุมชน มีการยกระดับแนวคิด พัฒนากรอบความคิด (Mindset) ให้กับคนในชุมชนให้สามารถทำธุรกิจบนพื้นฐานของความพอเพียง รู้จักที่จะนำต้นทุนต่างๆที่มีในชุมชนมาต่อยอดและพัฒนาก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจน คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการผลักดันกิจกรรมต่างๆ ภายในแหล่งท่องเที่ยวให้สามารถดำเนินกิจกรรมไปได้ ร่วมกันคิดและวางแผนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีชื่อเสียงมากขึ้นเพื่อก่อให้เกิดรายได้ให้กับชุมชน
“วางแผนระยะยาว” ยกระดับพื้นที่ให้ได้มาตรฐาน
การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับและได้มาตรฐาน จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาและทุนทางทรัพยากรที่หลากหลาย ดังนั้นเพื่อกำหนดกรอบและทิศทางในการพัฒนาบ้านสุมาลีให้เกิดการบูรณาการจากทุกภาคส่วน มีทิศทางในการพัฒนาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปและสำเร็จตามเป้าหมายของศูนย์การเรียนเรื่องการพึ่งตนเอง และพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างสร้างสรรค์ ทางทีมทำงานร่วมกับชุมชน ระดมความคิดเห็น และวิเคราะห์สถานการณ์และทิศทางการท่องเที่ยว สถานการณ์การแข่งขันและคู่แข่ง จากการวิเคราะห์ ความได้เปรียบและเสียเปรียบหลายปัจจัยวิเคราะห์จากทฤษฎี แรงกดดัน 5 อย่าง (Five Forces model) ตลอดจน การวิเคราะห์ SWOT Analysis และ TOWS Matix ทำให้ทางทีมเล็งเห็นทิศทางการพัฒนาบ้านสุมาลีในอีก 3-5 ปีข้างหน้าได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยได้กำหนดแผนพัฒนาการท่องเที่ยวศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง บ้านสุมาลี (พ.ศ. 2565-2568) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและยกระดับสินค้าให้มีมาตรฐาน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนภายใต้การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเน้นคุณค่า ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้มีมาตรฐานและความปลอดภัย มุ่งสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับทุกสถานการณ์
โดยกำหนดแผนพัฒนาการท่องเที่ยวศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง บ้านสุมาลี ระยะ 3 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2565-2568 มีวิสัยทัศน์ “แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อการเรียนรู้คุณค่าภูมิปัญญา พัฒนาคุณภาพทักษะชีวิต และเน้นปรับตัวอย่างสร้างสรรค์” ซึ่งคำว่า “แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร” หมายถึงศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง บ้านสุมาลี เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องเชิงเกษตร จึงมุ่งเน้นการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อต่อยอดจากความเป็นตัวตนของศูนย์การเรียนรู้ โดยไม่ทิ้งความเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ ส่วน “การเรียนรู้คุณค่าภูมิปัญญา” มุ่งเน้น ผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นจากภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยการเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรที่มีอยู่ จึงจะมุ่งหวังให้ยังคงคุณค่าของภูมิปัญญาเอาไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ โดยการผ่านกิจกรรมหรือการให้ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ “พัฒนาคุณภาพทักษะชีวิต” ซึ่งเป้าหมายของการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง บ้านสุมาลี คือ ความต้องการมอบทักษะชีวิตให้กับผู้อื่นเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงต้องการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเรียนรู้ทักษะชีวิตและได้รับความสนุกสนานกลับไปพร้อม ๆ กัน และ “ปรับตัวอย่างสร้างสรรค์” ในปัจจุบันมีศูนย์การเรียนรู้ที่มีรูปแบบคล้ายกันอยู่มาก จึงมุ่งเน้นพัฒนาการออกแบบกิจกรรม สถานที่ และ/หรือการบริการนักท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันตามทุกสถานการณ์
จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงได้กำหนดพันธกิจเพื่อ 1) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน โดยการยกระดับสินค้าให้มีมาตรฐาน เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ต่อยอดคุณค่าให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านการมอบประสบการณ์ในรูปแบบของกิจกรรม 2) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพและความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว 3) สร้างภาพลักษณ์ที่ดี วางแผนการตลาดและการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย 4) พัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมและความยืดหยุ่นในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยเข้าร่วมหลักสูตรที่ทางภาครัฐจัดอบรม โดยบ้านสุมาลีจะต้องดำเนินงานอย่างบูรณาการด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่น ศูนย์การเรียนรู้ คนในชุมชน ผู้นำชุมชน และองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นต้น โดยมีหลักยุทธศาสตร์ 4 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาการท่องเที่ยว สินค้าและบริการเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาศักยภาพและความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การวางแผนทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์ และประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาคุณภาพบุคลากรและการบริการให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้การดำเนินงานตามแผนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ จำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินผล เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะนั้น และบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยแนวทางในการนำแผนไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวบ้านสุมาลี
“เชื่อมโยง” การพัฒนาท้องถิ่น “สนับสนุน” การพัฒนาที่ยั่งยืน
จากการพัฒนาการท่องเที่ยวบ้านสุมาลี ทำให้เห็นความเชื่อมโยงมิติการพัฒนาด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ ภูมิภาค และจังหวัด อาทิ หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มีจุดประสงค์เพื่อ “พลิกโฉมประเทศไทยสู่ สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ซึ่งยังเชื่อมโยงกับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่มุ่งเน้นเน้นการเกษตรสร้างมูลค่า สร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีประเด็น สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียวและพัฒนาพื้นที่เมืองชนบทเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมุ่งเน้นความเป็นเมืองที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งมีทั้งหมด 17 เป้าหมายที่สะท้อนมิติความยั่งยืนทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม (Three Pillars of Sustainability) ที่เชื่อมต่อ 5Ps ไม่ว่าจะเป็น People ด้านสังคม Prosperity ด้านเศรษฐกิจ Planet ด้านสิ่งแวดล้อม Peace ด้านสันติภาพและสภาบัน และ Partnership ด้านความร่วมมือการพัฒนา ซึ่งจะเห็นได้ว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวของบ้านสุมาลีที่กล่าวมาข้างต้นมีครบทั้ง 5Ps ทำให้มั่นใจว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นนั้น เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น ตามหลักการขับเคลื่อน SDGs มีกระบวนการที่เริ่มจากฐานรากขึ้นสู่ระดับนโยบาย (bottom-up) โดยมีภาครัฐและชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นไปอย่างบูรณาการ (Integrated) ครอบคลุม (Inclusive) เชื่อมโยง (Interlinkage) และมุ่งผลลัพธ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง (Outcome-based transformation) ที่เน้นการนำไปปฏิบัติ แก้ปัญหาระดับท้องถิ่นได้ (Locally-focused) และให้ความสำคัญกับกลุ่มที่เปราะบาง
ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าการพัฒนาดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การรวมกลุ่มกันของชาวบ้านเพื่อร่วมกันสร้างอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มและเพื่อสร้างธุรกิจที่จะสามารถสร้างรายได้แบบระยะยาวในอนาคตเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับเข้าสู่วัยชราอย่างมีคุณภาพและยังเป็นแหล่งงานสำหรับประชาชนทั่วไปในหมู่บ้านที่สามารถมารับจ้างกลุ่มในการเป็นแรงงานผลิตสามารถมีรายได้และได้อยู่กับครอบครัว เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทำงานในพื้นถิ่นลดปัญหาแรงงานทะลักเข้าสู่เมืองใหญ่ ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมและยั่งยืน และยังสอดคล้องโดยตรงกับเป้าหมายย่อย (8.2) ในการการส่งเสริมผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก นอกจากนี้ การมุ่งเน้นให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และชุมชนสามารถยกระดับทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างมุลค่าเพิ่มได้ เน้นการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยการจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการกำจัดขยะที่เป็นพิษและมลพิษ การส่งเสริมให้มีการรีไซเคิลและลดขยะมูลฝอยในอุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ ยังสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Ensure sustainable consumption and production patterns) ข้อย่อย 12.b คือพัฒนาและใช้เครื่องมือติดตามผลกระทบการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนซึ่งสร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายใต้เป้าหมายที่ 12 อีกด้วย






