โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
วิสาหกิจชุมชนที่สานต่อธุรกิจหัตถกรรมของครอบครัว ‘กระจูด’ ที่มีมากในพื้นที่ มาเพิ่มมูลค่าด้วยการนำความรู้ด้านศิลปะและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาออกแบบพัฒนาสินค้า นับตั้งแต่การเพิ่มวัสดุประกอบ เช่น ผสมใบลาน ต่อยอดลวดลวยทอให้หลากหลาย พัฒนาเทคนิคย้อมและใช้สีย้อมธรรมชาติ จนคว้ารางวัลด้านการออกแบบมากมาย สร้างสมดุลในการทำธุรกิจ รักษาสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต
จุดเริ่มต้น
บริเวณรอบๆ ทะเลน้อย ที่จังหวัดพัทลุง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งแรกของประเทศไทยภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ที่มุ่งให้แต่ละประเทศอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ที่นั่นจะพบกระจูดซึ่งเป็นวัชพืชที่เติบโตในพื้นที่พรุทางภาคใต้ของประเทศ ที่นำมาใช้ทำพรมเช็ดเท้าแบบดั้งเดิม แต่มนัสพงศ์ เส็งฮวด ทายาทรุ่นที่ 2 ของหัตถกรรมกระจูดวรรณี ได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและหลักการผลิตที่ยั่งยืนมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานหัตถกรรมท้องถิ่น บริหารจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิตให้สินค้าทั้งหมดปลอดสารเคมี 100% ตั้งแต่การเก็บและปลูก การใช้สีธรรมชาติ-ไม่ใช้แลคเกอร์ ทำให้สุขภาพของช่างฝีมือปลอดภัย ก่อให้เกิดเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่สร้างงานให้คนในชุมชนกว่า 250 ครัวเรือน
ทำน้อยให้ได้มาก “Less for More”
การเปลี่ยนจาก ‘งานหัตถกรรม’ เป็น ‘งานหัตถกรรมเชิงอุตสาหกรรม’ เป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากต้องใช้วิธีการทำงานแบบใหม่ ระบบการผลิตใหม่ ชั่วโมงการทำงานใหม่ และวิธีการจัดการรายได้ที่เพิ่มขึ้น มนัสพงศ์บอกว่า “เราต้องสร้างตัวอย่างให้พวกเขาเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะทำให้เราขายสินค้าได้มากขึ้นในราคาที่ดีขึ้น” โดยสาธิตให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตอย่างรวดเร็วแต่ใส่ใจในรายละเอียดน้อยก็ขายไม่ดีเช่นกัน การใช้เวลาเพิ่มอีก 10 วันในการผลิตงานฝีมือคุณภาพสูงด้วยการทอที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นและการออกแบบร่วมสมัยจะทำให้มียอดขายและกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมาก แนวคิด “Less for More” นี้ได้เปลี่ยนทัศนคติของช่างฝีมือต่อคุณค่าของเวลาและวิธีใช้ทักษะให้เกิดประโยชน์สูงสุด “เครือข่ายเรามีจัดการโดยแบ่งตามความเชี่ยวชาญของแต่ละครัวเรือน” เขากล่าว “เช่น มีครัวเรือนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสีย้อม การเลือกวัสดุ การรีดผ้า การทอผ้า การจัดการการผลิตและการทำวัสดุบุผิว กระบวนการผลิตเป็นการบ่มเพาะความเชี่ยวชาญเฉพาะของช่างฝีมือแต่ละคน ทำให้เกิดมาตรฐานงานฝีมือที่แน่นอน เมื่อผลิตเสร็จเราต้องตรวจสอบคุณภาพ”
สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว
หัตถกรรมกระจูดวรรณีช่วยพัฒนาเครือข่ายช่างฝีมือให้สามารถจัดการเวลาและการเงิน โดยช่างฝีมือสามารถวางแผนงบประมาณล่วงหน้าและตั้งเป้าหมายทางการเงินเพื่อรับค่าจ้างมากขึ้น บริษัทยังตรวจสอบให้แน่ใจว่าเครือข่ายและพนักงานสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพและการมีหลักประกันประเภทต่างๆ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาแบรนด์อย่างยั่งยืน
SDG1 #SDG8 #SDG12 #SuDSESC #Nida #NIDAThailand
ท่านใดสนใจรายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ “Thailand’s BCG Transformation: 40 Case Studies on the Bio-Circular-Green Strategy and the Sufficiency Economy Philosophy In Action” หน้า 206-209 ข้างล่างได้เลยค่ะ



