โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
โมเดลการพัฒนาชุมชนที่พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยความร่วมมือในชุมชน ต่อยอดเพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจท้องถิ่น – ต้นไผ่ – โดยใช้ทุกส่วนของไผ่สร้างมูลค่าอย่างรู้คุณค่า และรักษาสิ่งแวดล้อมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน จากที่ใช้หน่อไม้เป็นอาหาร นำลำต้นไผ่ที่แข็งแรงและยืดหยุ่นมาเป็นวัสดุปลูกสร้าง แล้วต่อยอดด้วยเทคโนโลยีมาผลิตพลังงานทดแทนในโรงไฟฟ้าชีวมวล และแปรรูปใยไผ่เป็นภาชนะชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน อาทิ ตะเกียบไม้ไผ่ ถ่านไผ่ อีกทั้งยังรักษาป่าต้นน้ำที่เป็นป่าเต็งรังและป่าไผ่ให้ยั่งยืน
จุดเริ่มต้น
ตำบลผาปังตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลและแห้งแล้ง มีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตรยังชีพเท่านั้น ชาวบ้านจำนวนมากอพยพเข้าเมืองเพื่อหางานทำ ทิ้งเด็กและผู้สูงอายุไว้เป็นส่วนใหญ่ รังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง จึงตัดสินใจเกษียณก่อนกำหนดจากตำแหน่งวิศวกรที่ ปตท.สผ. มาบุกเบิกการใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่ ที่มีอยู่มากมายในท้องถิ่น โดยเล่าถึงการที่โทมัส เอดิสันที่ได้พัฒนาไส้หลอดไม้ไผ่เป็นหลอดไฟหลอดแรกจากถ่านที่ใช้ได้นานถึง 1,200 ชั่วโมง เขาเชื่อว่า “มีไม้ไผ่ ผาปังจะรอด” และริเริ่มใช้เทคโนโลยีมาแปลงทรัพยากรท้องถิ่นนี้ให้เป็นพลังงานสีเขียว – ไม้ไผ่ผลิตออกซิเจนได้มากกว่าพืชเขตร้อนอื่นๆ ถึง 35% และดูดซับ CO2 ได้มากกว่า 75% ทำให้ถ่านไม้ไผ่มีความบริสุทธิ์มากและสามารถเปลี่ยนเป็นก๊าซไม้ไผ่ที่สะอาด มีประสิทธิภาพ และราคาถูก
พึ่งตัวเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
มูลนิธิฯ ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม 18 หน่วย ซึ่งแต่ละหน่วยพึ่งตนเองได้ เช่น คนปลูกไผ่ขายให้คนตัด ที่ขายต่อให้คนแปรรูป เงินก็หมุนเวียนอยู่ในตำบล เมื่อโครงการเริ่มต้นขึ้นและชาวบ้านเริ่มเห็นประโยชน์ มูลนิธิได้มอบหน่อไผ่สำหรับทำสวนไผ่ของพวกเขาเอง ชุมชนใช้ Syngas หรือแก๊สเชื้อเพลิงผสม ที่ได้จากไผ่ในการปรุงอาหาร ซึ่งลดต้นทุนพลังงานได้ถึง 67% และใช้ในการแปรรูปอาหารเพื่อจำหน่าย เช่น กล้วยที่ปลูกในท้องถิ่นจะตากให้แห้งด้วยแสงแดดในตอนกลางวัน และเปลี่ยนมาใช้เครื่องอบความร้อน Syngas ในตอนกลางคืน และใช้ Syngas ที่ราคาถูกกว่าน้ำมันหนึ่งในห้า ในการจ่ายพลังงานให้กับเครื่องสูบน้ำชลประทาน รวมถึงเครื่องสูบน้ำที่รดสวนไผ่ด้วยกันเอง Syngas ผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดให้กับโฮมสเตย์และศูนย์การเรียนรู้ใจกลางหมู่บ้านโดยสลับกับพลังงานแสงอาทิตย์ มองไปข้างหน้า ผาปังกำลังเจรจากับบริษัทในยุโรปเกี่ยวกับการเปลี่ยนเส้นใยไผ่เป็นอิฐ และบริษัทไทยรายใหญ่เกี่ยวกับการผลิตกระเบื้องจากไม้ไผ่คอมโพสิต รวมถึงการทดลองเพื่อผลิตตัวถังรถยนต์จากใยไผ่
ผาปังโมเดลกับกลยุทธ์ BCG
• ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมากมายในท้องถิ่น – ไม้ไผ่ – ในหลากหลายวิธีที่สร้างสรรค์เพื่อประหยัดต้นทุน
• เพิ่มศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านพลังงานของชุมชน ผ่านการผลิตก๊าซชีวภาพและการติดตั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็กนอกระบบกริดจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน
• ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การทำปุ๋ยไบโอชาร์จากขยะไม้ไผ่ หรือภาชนะชีวภาพจากใยไผ่
• สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนด้วยการสร้างงานใหม่และโอกาสในการสร้างรายได้ และแบ่งปันความรู้
•ส่งเสริมการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านโฮมสเตย์
#SDG1 #SDG7 #SDG8 #SuDSESC #Nida #NIDAThailand
ท่านใดสนใจรายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมจาก “Thailand’s BCG Transformation: 40 Case Studies on the Bio-Circular-Green Strategy and the Sufficiency Economy Philosophy In Action” หน้า 102-105 ข้างล่าง



