“BCG พอเพียง" Series EP:27 อาข่า อาม่า - A Coffee Enterprise Grounded in Its Roots อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย BCG: Agriculture & Food

“BCG พอเพียง” Series EP:27 อาข่า อาม่า – A Coffee Enterprise Grounded in Its Roots อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย BCG: Agriculture & Food

โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง

ธุรกิจเพื่อสังคมผู้ผลิตกาแฟคุณภาพในวิถียั่งยืน กลมกลืนกับสังคม-วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยชนเผ่าอาข่ามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในการผลิต สามารถส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น สร้างพื้นฐานในการพึ่งพาตนเองและมีภูมิคุ้มกันที่ดีของสังคม ตลอดจนสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนอาข่า

จุดเริ่มต้น

“(กาแฟ) มีศักยภาพในการเติบโตสูงสุด มีมูลค่ารองจากน้ำมัน” อายุ เชื้อปา จากชุมชนชาวเขาอาข่าที่ยากจน ผู้ก่อตั้งกาแฟอาข่าอาม่า ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการหลวง ในการทำธุรกิจแบบไม่แสวงหาผลกำไรแต่มุ่งดูแลผู้ยากไร้ และเป็นแผนธุรกิจที่เขานำไปใช้ในการสร้างแบรนด์กาแฟคุณภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยเหลือชนเผ่าของเขา จนประสบความสำเร็จทางการค้าและได้รับการยกย่องจากนานาชาติ

อาข่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพจากมณฑลยูนนานในประเทศจีน มาตั้งถิ่นฐานในประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย อาข่าเป็นชนเผ่าที่ยากจนที่สุดในบรรดาชาวเขาทั้ง 6 เผ่าในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ชาวอาข่าปลูกพืชผิดกฎหมาย เช่น ฝิ่น และผู้หญิงถูกล่อลวงให้ทำงานค้าบริการทางเพศ แม้ว่าฝิ่นจะถูกกำจัดจนหมดสิ้นไปบนที่สูงแล้ว แต่ชาวอาข่าก็ยังไม่ได้รับความปลอดภัย จนกระทั่งกฎหมายที่ประกาศใช้เมื่อเร็วๆ นี้อนุญาตให้พวกเขาสามารถจัดการ “ป่าชุมชน” ของตนเองได้

ชุมชนพึ่งตนเองคือรากฐาน การส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปคือความยั่งยืน

หลังจากขายผลิตภัณฑ์ให้กับพ่อค้าคนกลางเป็นเวลาหลายปี ชาวอาข่าในแม่จันก็ตัดสินใจแปรรูปและจำหน่ายกาแฟคุณภาพสูงด้วยตนเอง ในปี 2553 กาแฟอาข่าอามาเริ่มผลิตกาแฟด้วย “ระบบการปลูกพืชหลายชนิดแบบผสมผสาน” ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาสารเคมีอันตราย เช่น สารกำจัดวัชพืชและยาฆ่าแมลง ในระบบนี้ ต้นกาแฟจะปลูกร่วมกับผักหลายชนิดและไม้ผลขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ป้องกันการกัดเซาะ และกักเก็บความชื้นมากขึ้นเพื่อให้พืชสามารถทนต่อสภาพอากาศในฤดูแล้ง

เพื่อช่วยเหลือชุมชนของเขา อายุหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจปัญหาของชุมชน โดยพูดคุยกับเด็ก คนแก่ และทุกคน นำสิ่งที่เรียนรู้จากการบวชเป็นสามเณรและที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายมาประยุกต์ใช้ เช่น “การคิดเชิงออกแบบ” มากลั่นกรองสรุปปัญหาได้ 3 ประเด็นหลัก – เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา – เขาคิดว่าวิธีหนึ่งที่จะสามารถจัดการปัญหาทั้งสามประการคือ การซื้อกาแฟจากเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน และชักชวนเยาวชนในชุมชนมาช่วยเขาในการทำธุรกิจ จากนั้นนำกำไรส่วนหนึ่งกลับมาใช้จัดการศึกษาที่ดีขึ้นให้กับเด็กๆ อายุมีความหวังที่จะหว่านเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป ให้กลายเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเอง จำนวนคนหนุ่มสาวอาข่าที่เดินตามเส้นทางของเขาเป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดี “ตอนนี้ 60 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ทำธุรกิจกาแฟอาข่าอาม่า เป็นคนหนุ่มสาวในหมู่บ้าน ซึ่งผมมีอายุมากที่สุด” เขากล่าว

#SDG1 #SDG10 #SDG12 #SuDSESC #Nida #NIDAThailand

ท่านใดสนใจรายละเอียด สามารถอ่านเพิ่มเติมจาก “Thailand’s BCG Transformation: 40 Case Studies on the Bio-Circular-Green Strategy and the Sufficiency Economy Philosophy In Action” หน้า 88 – 93 ข้างล่าง