แถลงข่าวโครงการวิจัย ข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนากฎหมายป้องกันตัวแทนอำพรางฯ

แถลงข่าวโครงการวิจัย ข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนากฎหมายป้องกันตัวแทนอำพรางฯ

   นวัตกรรมงานวิจัยบูรณาการข้ามศาสตร์ คณะการจัดการการท่องเที่ยว จับมือ คณะนิติศาสตร์ นิด้า พัฒนาข้อเสนอกฎหมายป้องกันตัวแทนอำพราง (Nominee) เพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจและแนวทางการจัดการหวังส่งเสริมภาคบริการของไทยสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

          วันที่ 19 กันยายน 2561 เวลา 10.00 น. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แถลงข่าวโครงการวิจัย “ข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนากฎหมายป้องกันตัวแทนอำพราง (Nominee) เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการจัดการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในโซ่อุปทานอุตสาหกรรมบริการให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน” ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกศรา สุกเพชร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภาคบริการและการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้ถือเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่เป็นวัตกรรมการบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่างคณะการจัดการการท่องเที่ยว และคณะนิติศาสตร์ ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เพื่อก้าวข้ามพรมแดนความรู้ทางวิชาการ และมีการใช้กระบวนการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อทำการศึกษาบริบท วิเคราะห์ประเด็นสำคัญและเสนอข้อเสนอในการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนอำพราง (Nominee) ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความซับซ้อนในสังคม โดยโครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ชุดโครงการการพัฒนาอุสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 

          “สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้รับการสถาปนาขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยทรงวางแนวทางสำคัญในการกำหนดให้นิด้าเป็นแหล่งศึกษาเพื่อการบริหารและการพัฒนา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2509 ซึ่งจากพระราชดำริดังกล่าว ทำให้นิด้า ให้ความสำคัญกับการศึกษาและวิจัยประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการศึกษาประเด็นต่างๆ มีความซ้ำซ้อนมากกว่าที่เคยผ่านมา ทำให้นิด้าเล็งเห็นความสำคัญของการ บูรณาการความรู้ในศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการวิจัยประเด็นต่างๆให้มีความลึกซึ้งมากขึ้น จึงถือเป็นนโยบายสำคัญในการส่งเสริมการวิจัยแบบบูรณาการ รวมทั้งการวางแนวทางการจัดการศึกษาที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในสถาบัน” 

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. โชคชัย สุเวชวัฒนกูล คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญในการวิเคราะห์และประเมินประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนอำพราง (Nominee) รวมถึงพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนากฎหมายป้องกันตัวแทนอำพราง (Nominee) ในโซ่อุปทานการท่องเที่ยวและบริการ โดยการใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผ่านการทำการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่มกับผู้ประกอบการและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและบริการ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพ ภูเก็ตและเชียงใหม่ ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้

          การกระทำเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee) หมายถึง การที่บุคคลกระทำการแทนบุคคลอื่นหรือการที่บุคคลได้รับการเสนอชื่อในการลงทะเบียนเป็นเจ้าของหลักทรัพย์แทนผู้ที่เป็นเจ้าของตัวจริง

          กิจกรรมตัวแทนอำพรางในธุรกิจบริการของไทยสามารถแบ่งได้ 6 ประเภท ได้แก่ 1.ธุรกิจนำเที่ยว  2.ธุรกิจขนส่ง  3.ธุรกิจที่พัก  4.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 5.ธุรกิจที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของเอกชน 6.ธุรกิจขายของที่ระลึก โดยจากการศึกษาพบว่าธุรกิจขายของที่ระลึก เป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรเพื่อใช้ในการสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อให้ธุรกิจอื่นๆ ส่งนักท่องเที่ยวเข้าสู่ธุรกิจขายของที่ระลึก

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปุ่น วิชชุไตรภพ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า สำหรับประด็น ด้านกฏหมาย พบว่าควรมีการนำ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้กับการตรวจสอบตัวแทนอำพราง เพราะ ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบเกี่ยวกับการจดทะเบียนนิติบุคคลโดยตรง และ อยู่ภายในกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเช่นเดียวกับหน่วยงานที่รับผิดชอบการจดทะเบียนของนิติบุคคลสัญชาติไทยจึงง่ายสำหรับการตรวจสอบ แต่ถ้ามีการนำกฎหมายที่กำหนดขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับธุรกิจนั้น ๆ มาบังคับใช้จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแตกต่างกัน ทำให้การตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ โดยได้พบข้อเสนอที่สำคัญในการเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจ ฯ ได้แก่ 

1.การปรับเพิ่มโทษสำหรับการเป็นตัวแทนอำพราง และบุคคลตั้งตัวแทนอำพรางให้สูงขึ้น รวมถึง การเพิ่มอำนาจในการกำหนดมาตรการการติดตาม การยึด และอำนาจอายัดทรัพย์สินในกรณีที่จำเป็น

2.การส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการตั้งตัวแทนอำพราง (Nominee) ซึ่งปัจจุบันมีตำรวจ ตำรวจท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว กรมสรรพากร สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และหน่วยงานราชการในจังหวัดนั้น ๆ รับรู้ถึงการบังคับใช้กฎหมายเจตนารมณ์ของกฎหมายแท้จริง

3.การตรวจสอบการตั้งตัวแทนอำพราง (Nominee) ควรกำหนดนโยบายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ กรมสรรพากรทำงานร่วมกันในการตรวจสอบภาษี และ เงินทุนที่นำมาลงทุนประกอบธุรกิจ เพื่อนำไปสู่รายได้จากการเก็บภาษีจะเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น

4.ควรกำหนดให้มีเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลการจดทะเบียนของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542 ให้มีอำนาจตรวจสอบและจับกุมเมื่อพบการกระทำความผิดการตั้งตัวแทนอำพราง (Nominee) ได้ทันที 

5.ควรให้หน่วยงานที่มีอำนาจเฉพาะ เช่น กรมการท่องเที่ยว ส่งบุคลากรลงไปพบปะและให้ความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับตัวแทนอำพราง แก่ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่น ภูเก็ตและเชียงใหม่ เป็นต้น