พม. Poll ศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1- 12 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ความรุนแรงในสังคมไทย ลดลงได้ด้วย (ใคร?) คุณ”
ระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค จำนวน 4,800 หน่วยตัวอย่าง และจัดให้มีการแถลงผลการสำรวจในวันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ณ ห้องโถงกลาง ชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แถลงผลการสำรวจเกี่ยวกับความรุนแรงในสังคมส่วนใหญ่ที่ประชาชนนึกถึงพบว่า ร้อยละ 55.04 การทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 23.85 การล่วงละเมิดทางเพศ และร้อยละ 15.38 การทำร้ายจิตใจด้วยวาจาและสีหน้าท่าทาง โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรง 3 อันดับแรก ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าอันดับ 1 คือ สุรา/ยาเสพติด อันดับ 2 คือ การอบรมเลี้ยงดู อันดับ 3 คือ การคบเพื่อน
ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.60 ระบุว่าความรุนแรงในครอบครัวมีผลกระทบต่อพฤติกรรมก้าวร้าวหรือเก็บกดของเด็กมากที่สุด เช่นเดียวกับประเภทของสื่อที่ใช้ในการนำเสนอเรื่องความรุนแรงทางสังคมที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สื่ออินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ ยูทูป อันดับ 2 คือ สื่อสังคมออนไลน์ คลิปวิดีโอ ไลฟ์สด อันดับ 3 คือ ละคร และเมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนจะทำหากพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในสังคม พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.31 ระบุว่า แจ้งเหตุ โดยแจ้งผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ แจ้งผ่านสายด่วน 191 ร้อยละ 45.84 แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ร้อยละ 9.13 แจ้งตำรวจ และร้อยละ 6.89 แจ้งผ่านสายด่วน 1300 ศูนย์ประชาบดี กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ด้านแนวทางการแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคม 3 อันดับแรก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.07 ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมาย (มีบทลงโทษที่เด็ดขาด) ร้อยละ 48.81 ระบุว่า สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว/อบรมสั่งสอน ร้อยละ 46.10 ระบุว่า การให้ความรู้เรื่อง “การยุติความรุนแรง” ตั้งแต่เด็ก
ทั้งนี้ทุกท่านสามารถติดตามผลสำรวจฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล”






