650803mou 01

สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ นิด้า และ 6 สถาบันการศึกษา จัดเวทีความร่วมมือทางวิชาการฯ

สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ นิด้า และ 6 สถาบันการศึกษาในภูมิภาค จัดเวทีความร่วมมือทางวิชาการในการคุ้มครองผู้บริโภค และความร่วมมือทางวิชาการในการสำรวจความคิดเห็นและประเมินความพึงพอใจที่มีต่อสภาองค์กรของผู้บริโภค ปี 2565 หวังยกระดับงานนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทุกด้าน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคทุกคน

          วันที่ 3 สิงหาคม 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และสถาบันการศึกษาในภูมิภาค 6 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จัดเวทีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการคุ้มครองผู้บริโภค และความร่วมมือทางวิชาการในการสำรวจความคิดเห็นและประเมินความพึงพอใจที่มีต่อสภาองค์กรของผู้บริโภค ปี 2565 ณ ห้องนวัตสิกขาลัย อาคารมาลัย หุวะนันทน์ ชั้น 5 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ

          นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้อนุมัติให้มีการดำเนินงานภายใต้ 5 แผนงาน ประกอบด้วย 1) แผนงานสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค 2) แผนงานพัฒนานโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค 3) แผนงานสนับสนุนหน่วยงานประจำจังหวัดและองค์กรผู้บริโภค 4) แผนงานสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และ 5) แผนงานจัดตั้งสำนักงานและพัฒนากำลังคนของสภาองค์กรของผู้บริโภค ทั้งนี้ การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดไว้ภายใต้ยุทธศาสตร์การสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภค อีกทั้งตามมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ระบุว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคมีหน้าที่จัดให้มีการประชุมสมาชิกและผู้บริโภคทั่วไปที่สนใจ เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของสภาองค์กรผู้บริโภคและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันจะเป็นประโยชน์แก่การคุ้มครองผู้บริโภค และการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค

          ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการในการสนับสนุนงานการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนการจัดทำสำรวจความคิดเห็นและประเมินความพึงพอใจที่มีต่อสภาองค์กรของผู้บริโภค สอบ. จึงได้มอบหมายให้นิด้าดำเนินการสำรวจความคิดเห็นและประเมินความพึงพอใจที่มีสภาองค์กรของผู้บริโภค ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยสำรวจความคิดเห็น ประเมินความพึงพอใจ และรวบรวมข้อเสนอแนะจากสมาชิก องค์กรผู้บริโภคทั่วไป และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง จัดทำเป็นรายงานเสนอต่อสภาองค์กรของผู้บริโภค รวมถึงสร้างเกณฑ์การวิจัยสำรวจความคิดเห็น ประเมินความพึงพอใจ และรวบรวมข้อเสนอแนะร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาค ตลอดจนสร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับหน่วยงานวิชาการในแต่ละภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภคให้เทียบเท่าสากล

          ด้าน รศ.ดร. สมบัติ กุสุมาวดี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนานาชาติ นิด้า กล่าวถึง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ซึ่งได้บัญญัติให้สิทธิแก่ประชาชน ตามมาตรา 46 ที่ระบุว่า “สิทธิของผู้บริโภคยอมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครอง 1 และ พิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคและองค์กรของผู้บริโภคดังกล่าว มีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ” และต่อมาได้มีการประกาศ พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ขึ้น รองรับสิทธิดังกล่าว จนได้ก่อให้เกิดการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภคแล้ว เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2563 ตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มาตรา 10 กำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นนิติบุคคลที่มีความเป็นอิสระ มีวัตถุประสงค์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน และทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคทุกคน เพื่อให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังและเตือนภัยให้กับผู้บริโภค รวมทั้งสนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภคในการรักษาประโยชน์ของผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค ถือเป็นนวัตกรรมทางสังคมรูปแบบใหม่ของการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จัดตั้งขึ้นโดยองค์กรและเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

          นิด้า ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจาก สอบ ให้ดำเนินการออกแบบขั้นตอน วิธีการ กำหนดกลุ่มเป้าหมายและวิธีการรวบรวมข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้อง 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1) สมาชิกสภาองค์กรผู้บริโภค จำนวนไม่น้อยกว่า 250 องค์กร โดยทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาค รวบรวมข้อมูลด้วยวิธี Focus Group 2) ผู้บริโภคทั่วไปที่ใช้บริการและ/หรือสนใจในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค 8 ประเด็นทั่วประเทศ ประกอบด้วย 1.ด้านการเงิน การธนาคาร เช่น การทวงหนี้เงินกู้ 2 ด้านสินค้าและบริการ เช่น การซื้อสินค้าออนไลน์ 3.ด้านบริการสุขภาพ เช่น ค่ารักษาพยาบาลแพง 4 ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยาปลอม 5.ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย เช่น การเรียกร้องกรณีบ้านทรุด บ้านร้าว 6.ด้านสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ค่าโทรศัพท์เรียกเก็บเกินจริง 7 ด้านขนส่งและยานพาหนะ เช่น รถไฟฟ้า รถขนส่งสาธารณะ และ 8.ด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่น ค่าน้ำมันแพง โดยรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำแนกตามภูมิภาค 7 ภูมิภาค และ 3) กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน ทั้งที่เป็นเครือข่าย และเป็นหน่วยงานที่ถูกตรวจสอบจากสภาองค์กรผู้บริโภค รวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview)

          นอกเหนือจากดำเนินการภายใต้โครงการสำรวจความคิดเห็นและประเมินความพึงพอใจที่มีต่อสภาองค์กรของผู้บริโภค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แล้ว นิด้า และสถาบันการศึกษาทุกฝ่ายยินดีให้ความร่วมมือในการสนับสนุนด้านวิชาการเพื่อการดำเนินงานในการคุ้มครองผู้บริโภค อันจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับ สอบ. ทั้งนี้ อาจสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ เท่าที่จำเป็นร่วมกัน อาทิ การสนับสนุนบุคลากร วิทยากร แพลตฟอร์ม การทำโพลสำรวจความคิดเห็น การทำวิจัย การทดสอบคุณภาพสินค้าหรือบริการ การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค หรือทักษะทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ เพื่อประโยชน์ในการยกระดับงานนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทุกด้าน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคทุกคน