สสส. เปิดคลังปัญญาต้อนรับ นศ.ปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ นิด้า
รองศาสตราจารย์ ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ อาจารย์ประจำวิชานวัตกรรมการจัดการทางการสื่อสาร นำคณะนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาคพิเศษ รุ่นที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงาน โดยมี รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้เกียรติบรรยายหัวข้อ “การรณรงค์ทางการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างพลังให้กับสังคม และกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อเสริมสร้างพลังทางสังคมและสื่อสารเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม” ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ กล่าวว่า แผนการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีครบ 4 มิติ ประกอบด้วย กาย จิต ปัญญา และสังคม เพื่อร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ โดยยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ สสส. ดำเนินงานภายใต้ ?ยุทธศาสตร์ไตรพลัง? ประกอบด้วย พลังปัญญา พลังนโยบาย และพลังสังคม ซึ่งเป็นการสอดประสานกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาวะ โดยมีการรณรงค์ทางการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างพลังให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ลดการสูบบุรี โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของประชากรไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 ลดลงถึงร้อยละ 19.94 นอกจากนี้ ยังมีแคมเปญการรณรงค์ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ ?ให้เหล้าเท่ากับแช่ง? ?งดเหล้าเข้าพรรษา? ทำให้อัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจาก 6.46 ลิตรต่อคน มาอยู่ที่ 6.08 ลิตรต่อคน ทั้งนี้ อัตราการดื่มในระดับอันตรายลดลงจากปี 2547 อยู่ที่ร้อยละ 9.1 ในปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 7.3 และยังพบว่าการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงในปี 2555 อีกด้วย
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวต่อไปว่า สำหรับช่วงปีใหม่ สสส. ยังร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำให้ช่วยลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนได้ถึงร้อยละ 20 และเสริมสร้างสุขภาวะทางเพศด้วยการร่วมพัฒนาการจัดการเรียนเพศศึกษา และเชื่อมโยงกลไกใน 34 จังหวัด และโครงการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้ 20 จังหวัดนำร่อง นอกจากนี้ ยังเดินหน้าสร้างสุขภาวะท้องถิ่น เพิ่มปัจจัยเสริมทางสุขภาพด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ โดยดำเนินโครงการการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและชุมชน เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร พัฒนาภาวะโภชนาการและสุขภาพในระยะยาว เช่น โครงการเด็กไทยแก้มใส โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน และพื้นที่ต้นแบบด้านการผลิตและตลาดอาหารปลอดภัย
สำหรับกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อเสริมสร้างพลังทางสังคมและการสื่อสารเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น ยังได้ดำเนินการทางด้านนโยบายสาธารณะ สังคม สิ่งแวดล้อม เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ชุมชนเข้มแข็ง นักสื่อสาร และด้านอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อให้การสื่อสารรอบด้านทั้งภูมิทัศน์สื่อใหม่ยุคสื่อหลอมรวม ส่งเสริม Digital Citizenship มีทักษะการสื่อสารควบคู่ความรับผิดชอบ และสร้างพลเมืองตื่นรู้บนฐานปัญญา และจริยธรรมเพื่อทันกระแสการเรียนรู้ ศตวรรษที่ 21 และ Media Culture ให้เข้าถึงทุกกลุ่มอย่างเป็นวงกว้าง
ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ 15 แผนงานที่ สสส. มุ่งมั่นที่จะดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพสู่สังคมสุขภาวะ พร้อมไปกับการจุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังบุคคล รวมไปถึงองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ สสส. มุ่งมั่นเพื่อสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่







