เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรษิดา บุญญาณเมธาพร รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับ ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จัดแถลงข่าวการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพ การท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร สาขาการจัดการการท่องเที่ยวในท้องถิ่นขึ้น
โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ท่านภราเดช พยัฆวิเชียร อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวและบรรยายเรื่อง “สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยหลังโควิด – ๑๙” นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก คุณดวงกมล จันสุริยวงศ์ ที่ปรึกษาสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย คุณจรัญยา แดงน้อย ผู้อำนวยการสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-I) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดวงพร อ่อนหวาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาศักยภาพชุมชน ร่วมเสวนา เรื่อง “พลิกวิกฤติโควิด สู่โอกาสสร้างอาชีพให้ท่องเที่ยวท้องถิ่น”
มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร สาขาการจัดการการท่องเที่ยวในท้องถิ่น จัดทำโดย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพบริการและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการท่องเที่ยวท้องถิ่นและให้เป็นที่ยอมรับจากทั้งภายในและต่างประเทศ และส่งเสริมการสร้างอาชีพแก่คนในท้องถิ่น ซึ่งนับเป็นกลไกการขับเคลื่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศและส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลบนฐานทรัพยากรและทุนวัฒนธรรม
ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน สมาคม ภาควิชาการ และชุมชน บัดนี้ มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร สาขาการจัดการการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 6 อาชีพ ดังนี้
•ผู้ประกอบการที่พักท้องถิ่น : คุณวุฒิวิชาชีพ ระดับ 2 3 และ 4 สำหรับบุคคลผู้ประกอบอาชีพให้บริการที่พักในท้องถิ่น ทั้งในรูปแบบโฮมสเตย์ บังกะโล ที่ตั้งแคมป์หรือเต๊นท์ ที่พักลอยน้ำ โรงแรม เกสต์เฮ้าส์ รีสอร์ท และบริการที่พักในท้องถิ่นในรูปแบบอื่น ๆ ที่เปิดให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวในท้องถิ่น
•ผู้ประกอบการอาหารท้องถิ่น : คุณวุฒิวิชาชีพ ระดับ 3 4 และ 5 สำหรับบุคคลผู้ประกอบอาชีพให้บริการอาหารท้องถิ่นแก่นักท่องเที่ยว ทั้งในรูปแบบของร้านอาหารหรือร้านกาแฟ ผู้ให้บริการขนมหวาน ของฝาก และผู้ประกอบอาหารในที่พักท้องถิ่น
•ผู้ประกอบการของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น : คุณวุฒิวิชาชีพ ระดับ 4 5 และ 6 สำหรับบุคคลผู้ที่ประกอบอาชีพออกแบบและพัฒนาของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อจัดจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว หมายรวมถึงผู้ขายของกินและของฝาก ผู้ให้บริการกิจกรรมท่องเที่ยวที่จัดทำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผู้ที่ขายของที่ระลึก ผู้ที่ออกแบบหรือผลิตสินค้าท้องถิ่น และผู้ที่ทำงานฝีมือ
•นักเล่าเรื่องท้องถิ่น : คุณวุฒิวิชาชีพ ระดับ 2 3 และ 4 สำหรับบุคคลผู้ที่ประกอบอาชีพเล่าเรื่องของท้องถิ่นให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ ตระหนัก และจดจำ หมายรวมถึง ปราชญ์ชาวบ้าน นักเล่าเรื่องชุมชน นักสื่อความหมายท้องถิ่น ไกด์ชุมชน ผู้นำชุมชน และคนนำเที่ยวในชุมชน
•นักออกแบบประสบการณ์ท่องเที่ยวท้องถิ่น : คุณวุฒิวิชาชีพ ระดับ 4 5 สำหรับบุคคลผู้ที่ประกอบอาชีพในการออกแบบรายการ และกิจกรรมนำเที่ยว บนพื้นฐานวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น และตามความสนใจเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวท้องถิ่นให้แก่นักท่องเที่ยว และครอบคลุมถึงผู้ปฏิบัติงานในการทำการตลาดและออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวท้องถิ่น ผู้จัดทำรายการนำเที่ยว ผู้พัฒนากิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยว และผู้นำเที่ยวท้องถิ่น
•นักการตลาดท่องเที่ยวท้องถิ่น : คุณวุฒิวิชาชีพ ระดับ 5 และ 6 สำหรับบุคคลผู้ที่ประกอบอาชีพด้านการตลาดการท่องเที่ยวท้องถิ่นทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ หมายรวมถึงผู้ที่ทำการตลาดท่องเที่ยวให้กับท้องถิ่น ผู้ดูแลออนไลน์แพลตฟอร์ม ผู้สร้างคอนเทนด์ออนไลน์ ผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของชุมชนทั้งภายในและภายนอก ผู้รีวิวการท่องเที่ยวในท้องถิ่น
เมื่อมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาการจัดการการท่องเที่ยวในท้องถิ่นนี้ ได้รับประกาศพระราชกิจจานุเบกษาให้เริ่มใช้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการการรับรองมาตรฐานอาชีพได้ภายในปีนี้ เพื่อเป็นกรอบแนวทางสำหรับการพัฒนาศักยภาพของผู้ที่จะประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงการยกระดับมาตรฐานงานบริการของชุมชนให้เป็นที่ยอมรับจากทั้งภายในและต่างประเทศซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในระยะยาว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรษิดา บุญญาณเมธาพร กล่าวเสริมว่า “เมื่อมาตรฐานตัวนี้ออกไปแล้วจะช่วยให้บุคลากรในท้องถิ่นไทยมีอาชีพ พัฒนาศักยภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อไปที่ประเทศไทยจะมี กลไกการขับเคลื่อนที่แข็งแรงในท้องถิ่นทั่วประเทศอีกด้วย
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)
คุณเรืองระวี สุวรรณปราโมทย์ โทร. 081-754-6808 Email : ruangrawee@tpqi.go.th
หรือ คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อาคารราชพฤกษ์ ชั้น 2 เลขที่ 118 ถนนเสรีไทย แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240
Email : Wora-gstmnida@hotmail.com









